วันอังคารที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2552

บทความ|ถาวร สิกขโกศล|ความเข้าใจเรื่องการกินเจ

ความเข้าใจเรื่องการ กินเจ
โดย ถาวร สิกขโกศล และ ดนัย ผลึกมณฑล
http://www.semsikkha.org/article/article/article3.doc

ความเข้าใจเรื่องการกินเจ
โดย ถาวร สิกขโกศล และ ดนัย ผลึกมณฑลณ

ป๋วยเสวนาคาร วัดปทุมคงคา (ฝั่งโรงเรียน) เมื่อวันที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๕๔๔

การกินเจของจีน ประกอบด้วย หนึ่ง การรักษาอุโบสถศีล และสอง กินของที่ถือว่าเป็นเจ (ไม่ทานเนื้อสัตว์ และผัก ๕ ชนิด) แตกต่างจากการกินมังสวิรัติ ซึ่งหากไม่ได้รักษาอุโบสถศีล เรียกว่า เจียะสู่ ซึ่งตรงกับคำไทยคือ กินเครื่องกระยาบวช คือกินผักเป็นหลัก ไม่มีของสดคาวและสิ่งมีชีวิต
"เทศกาลกินเจเดือนเก้า จริง ๆ แล้วเป็นเทศกาลที่คึกคักที่สุดในเมืองไทยเท่านั้น และเริ่มคึกคักมากเมื่อ ๒๐ กว่าปีมานี้เอง เมื่อธุรกิจได้เข้าไปแทรกซึมในกิจกรรมการกินเจ" อ. ถาวร สิกขโกศล กล่าวในช่วงต้นของการเสวนาเรื่อง "ความเข้าใจเรื่องการกินเจ"
นอกจากนี้ ใน พจนานุกรมเทศกาลจีน ไม่พบว่ามีการกินเจที่เป็นเทศกาลของชาวบ้านอยู่ในเมืองจีน ไม่ว่าจะเป็นท้องถิ่นใด แต่การกินเจเป็นเทศกาลของนักบวชเต๋าเท่านั้น

ด้าน คุณดนัย ผลึกมณฑล ผู้สนใจศึกษาเรื่องการกินเจโดยเฉพาะ กล่าวว่าการศึกษาเรื่องประเพณีการกินเจในเมืองไทย มีความสับสนและคลุมเครืออยู่ไม่น้อย เพราะเป็นการนำเอาเรื่องที่เล่าสืบต่อกันมาอย่างปราศจากหลักฐานที่ชัดเจน มายึดถือเป็นความจริงโดยไม่มีการตรวจสอบอย่างเพียงพอ

จากการศึกษาของคุณดนัย พบว่าการกินเจ ไปพ้องกับความเชื่อของลัทธิมณี ซึ่งถือกำเนิดในบริเวณอ่าวเบงกอล ประเทศอินเดีย (ลัทธิมณี เป็นความเชื่อเกี่ยวกับการต่อสู้ระหว่างความดีและความเลว เป็นความเชื่อที่สืบต่อมาจากลัทธิโซโรแอสเตอร์ทางแถบเปอร์เซีย แต่ผนวกเอาความเชื่อของพุทธศาสนาเข้าไปด้วย) ก่อนเผยแพร่เข้าสู่เมืองจีนในสมัยราชวงศ์ถัง ต่อมา เมื่อถูกกษัตริย์ในราชวงศ์ถังบางองค์ลิดรอนความเชื่อดังกล่าว ทำให้ลัทธิมณีกลายเป็นลัทธิใต้ดิน และถูกเรียกว่า ม้อก่า หรือลัทธิอสูร ก่อนจะปรับเปลี่ยนตัวเองเป็น เม้งก่า หรือลัทธิแห่งแสงสว่าง ซึ่งเน้นคำสอนให้รวมตัวกันต่อสู้กับความอยุติธรรม เมื่อพระราชามีความไม่เที่ยงธรรม

เม้งก่า ต่อต้านมองโกลจนทำให้จูหยวนจางขึ้นครองราชย์เป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์หมิง แต่กลับถูกปราบปราม เพราะกลัวจะเป็นหอกข้างแคร่ในอนาคต จนต้องปรับเปลี่ยนตัวเองอีกครั้งเป็นลัทธิบัวขาว ซึ่งเชื่อเรื่องการเกิดใหม่ของพระศรีอริยเมตไตรย ทดแทนความเชื่อเดิมเรื่องการเกิดใหม่ของเทพแห่งเม้งก่า

ลัทธิบัวขาว เจริญรุ่งเรืองในสมัยราชวงศ์หมิง และมีส่วนโค่นล้มราชวงศ์ดังกล่าว เพราะกษัตริย์ในช่วงปลายราชวงศ์ไม่อยู่ในธรรม ประชาชนจึงก่อการขบถขึ้น เกิดความระส่ำระสายไปทั่วแผ่นดิน จนมีช่องว่างให้ชนเผ่าแมนจู เข้ามายึดครอง และกวาดล้างกลุ่มต่อต้านต่าง ๆ ก่อนจะเกิดการรวมตัวเป็นขบวนการอั้งยี่ ในช่วงปลายราชวงศ์ชิง เพื่อต่อต้านแมนจู

อาจสรุปว่า การกินเจ ก็คือขบวนการต่อต้านความอยุติธรรมของรัฐของประชาชน ที่ออกมาในรูปของศาสนานั่นเอง

จุดนี้เองที่ คุณดนัย ชี้ว่า ความเชื่อและประเพณีการกินเจเดือนเก้าในเมืองไทยมาจากพวกอั้งยี่ เพราะอั้งยี่ก็คือกระบวนการสืบต่อความเชื่อมาจากเม้งก่า ดังนั้น คุณดนัย จึงสงสัยว่า การกินเจของทางใต้ ซึ่งเชื่อต่อ ๆ กันมาว่า รับมาจากกังไส ในเมืองจีนนั้น เพราะไม่พบประเพณีดังกล่าวอยู่ในกังไสแต่อย่างใด โดยน่าจะเกิดจากความผิดพลาดในการสื่อภาษา โดยเพี้ยนมาจากคำว่า กังเซียง อันเป็นกลุ่มอั้งยี่ที่ใช้ชีวิตเร่ร่อน ประกอบอาชีพหมอดู ทรงเจ้า ซึ่งสอดคล้องกับลักษณะพิธีกรรมของทางใต้ อันเป็น ๑ ใน ๔ สายลักษณะการกินเจในเมืองไทย คือ สายพุทธ สายเต๋า โรงเจ และสายสุดท้าย คือสายความเชื่อเรื่องการทรงเจ้า

นอกจากนี้ พิธีกรรมสำคัญของเทศกาลกินเจเดือนเก้า ก็คือ การขมากรรม ในระกว่างบูชาดาว ซึ่งแต่เดิมหมายถึงการดำเนินชีวิตอย่างรวมเป็นหนึ่งเดียวกับฟ้า ปฏิบัติตัวให้ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม หากต่อมาได้ผิดเพี้ยนไป กลายเป็นการอัญเชิญพระพุทธเจ้า เทพเจ้า จากฟากฟ้าลงมา แล้วสวดสรรเสริญ วอนขอ ให้ปีนั้น ๆ ทุกคนปลอดภัย มีชีวิตที่ดี และขอให้พระองค์อดทนต่อการทำผิดของเรา

แต่ไม่ว่าประเพณีการกินเจ จะมีที่มาที่ไปอย่างไร ท่าทีของผู้ถือปฏิบัติต่อประเพณีดังกล่าว ย่อมเป็นสิ่งที่สำคัญกว่า ดังที่ อ.ถาวร สิกขโกศล ได้ให้ข้อคิดไว้ในช่วงท้ายของการเสวนาว่า "การกินเจก็เป็นกิจกรรมอันหนึ่ง ขัดเกลาตัวเราให้เป็นไปโดยเหตุและปัจจัย อย่ากินโดยถืออัตตา อย่ากินโดยอติมานะว่าข้าประเสริฐกว่าผู้อื่น คือเรากินเพื่อสุขภาพ กินเพื่อเกื้อกูลแก่สรรพชีวิตทั้งหลาย หรือแม้สิ่งที่ไม่มีชีวิต ก็ให้เกิดความเมตตา กรุณา ขัดเกลาราคะ โทสะ โมหะ ของตนเองให้เบาบางลง"

เช่นนี้แล้ว จึงจะนับว่าเป็นท่าทีต่อการกินเจที่เป็นประโยชน์ทั้งกับตนเองและผู้อื่นอย่างแท้จริง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น